Wednesday, October 3, 2007

"ท่านผู้โดยสารคะ.."


“..อีกสักครู่เชิญชมสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบนเครื่องบินจากพนักงานต้อนรับค่ะ”



ประโยคนี้เป็นประโยคที่เราได้ยินกันเป็นประจำทุกครั้งเมื่อขึ้นเครื่องบินในเวลาก่อนที่เครื่องจะทำการ Take off ไม่ว่าจะเป็นสายการบินไหนในโลกก็ตาม และผมเชื่อว่าตั้งแต่เหตุการณ์เครื่องบินของสายการบิน One-2-Go เที่ยวบินที่ OG269 ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ที่ภูเก็ต ทำให้ทุกๆ คนตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยบนเครื่องบินมากขึ้น และบางคนถึงกับหวาดกลัวการเดินทางทางอากาศไปเลยก็มี อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะว่าห้ามกันไม่ได้

เรามาดูกันดีกว่าว่า เหตุผลของการที่เขาให้ปฏิบัติตามเขาแต่ละอย่างมันคืออะไร พวกเราจะได้เข้าใจกันถ้วนหน้า ว่า อ๋อ..ที่เขาให้ทำแบบนี้ก็เพราะมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

เริ่มต้นกันตั้งแต่เดินขึ้นเครื่องจนไปถึงที่นั่งกันเลย สงสัยมั้ยว่าทำให้ผู้โดยสารต้องเก็บของไว้ในที่เก็บของเหนือศีรษะ หรือใต้ที่นั่งด้านหน้ามั้ย นั้นก็เพราะว่าสัมภาระของเราถือเป็น Loose object เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วจะกลายเป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางหนีของผู้โดยสาร หรือแม้กระทั่งกลายเป็นกระสุนลูกใหญ่ได้เลยทีเดียว และสาเหตุที่ใต้ที่นั่งด้านหน้าเป็นที่ที่เก็บสัมภาระได้ เพราะว่าจะมีแผงกัน เมื่อเกิดการลงจอดฉุกเฉิน กระเป๋าของพวกเราก็จะถูกดันไปติดอยู่ด้านในภายใต้เก้าอี้ ไม่ก่อให้กระเป๋าคุณเป็น Loose object



เมื่อเก็บของเสร็จแล้วก็ถึงเวลานั่งประจำที่ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าต้องรัดเข็มขัด ทำไมน่ะเหรอครับ ก็เพราะว่าระหว่างการเดินทางเราไม่ทราบหรอกว่าจะตกหลุมอากาศเมื่อไหร่ เข็มขัดนี้เรียกได้ว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตคนมานักต่อนักแล้ว และการรัดเข็มขัด ก็ต้องรัดให้กระชับที่ระดับสะโพก ย้ำครับย้ำ ว่ากระชับที่ระดับสะโพก หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เจ้าเข็มขัดที่รัดไว้ระดับสะโพกนี้แหละจะรั้งช่วงสะโพกของเราที่ถือว่าค่อนข้างแข็งแรง ใครชอบรัดเข็มขัดหลวมๆ ขอเตือนครับว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน แทนที่เข็มขัดจะดึงช่วงสะโพก จะกลายเป็นดึงช่วงหน้าอก ซี่โครง หรือหน้าท้อง ซึ่งไม่ได้แข็งแรงเท่าสะโพก และเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงภายในได้ และขอแนะนำว่าให้รัดเข็มขัดไว้ตลอดเวลาขณะนั่งประจำที่นะครับ เพราะอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่าเราไม่ทราบว่าเครื่องบินจะตกหลุมอากาศเมื่อไหร่ สำหรับคนที่มีรูปร่างใหญ่ก็ใช่เหตุผลที่จะขอไม่รัดเข็มขัดครับ เพราะว่าเขามี extension seat belt ไว้ให้เพื่อความปลอดภัย



ก่อนเครื่องจะขึ้นและลง เราเคยสงสัยมั้ย ว่าทำให้ถึงต้องให้ปรับพนักเก้าอี้ให้ตั้งตรง ต้องพับเก็บโต๊ะหน้าที่นั่ง ต้องพับเก็บที่วางเท้า เก็บจอภาพข้างที่นั่ง หรือว่าให้เปิดหน้าต่างทุกบาน สาเหตุที่ต้องทำอย่างนี้เพราะว่าช่วง Take off และ Landing ถือเป็นช่วง Critical phase ของการทำการบิน และกว่า 90% ของอุบัติเหตุมักจะเกิดในช่วงนี้ ดังนั้น เพื่อให้สะดวกต่อการอพยพหนีออกจากตัวเครื่องบิน การที่ปรับพนักเก้าอี้ตรง ก็เพื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เราจะได้ไม่มีเก้าอี้เอนมาขวางทางขณะหนีออก และเหตุผลนี้เป็นเหตุผลเดียวกับการให้พับโต๊ะหน้าที่นั่ง ที่วางเท้า และ จอภาพข้างที่นั่งครับ ส่วนการที่ให้เปิดหน้าต่างนั้น ก็เพราะว่าจะได้ปรับสายตาจากความแตกต่างของความสว่างภายใน และภายนอกห้องโดยสารครับ


ความดันอากาศภายในห้องโดยสารนั้นมีการปรับไว้เพื่อความสบายของพวกเรา แต่ในบางครั้งเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน แล้วเครื่องบินจำเป็นต้องลดระดับอย่างรวดเร็ว หรืออาจมีเหตุอื่นๆ ที่ทำให้สูญเสียความดันอากาศภายในห้องโดยสาร สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องการก็คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากหน้ากากออกซิเจน ซึ่งวิธีการใช้ก็คงไม่ยากเย็นเกินความสามารถของทุกคน แต่...ถ้าหากเราเดินทางไปกับเด็ก ก็อย่าลืมใส่ให้ตัวเองก่อนใส่ให้เด็กนะครับ เพราะเรายิ่งปล่อยให้ตัวเองขาดออกซิเจนนานเท่าไหร่ ความสามารถในการครองสติของเราก็จะลดลงเร็วเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถไปช่วยเหลือใครได้ แม้กระทั่งตัวเราเอง ตามที่ผมเคยเล่าไว้ในเรื่องของ Hypoxia



ถ้าเมื่อใดที่มีเหตุจำเป็นต้องนำเครื่องบินลงจอดในน้ำ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือเสื้อชูชีพ ที่เก็บไว้ใต้ที่นั่ง ในที่พักแขน หรือตามที่มีเครื่องหมายแสดงไว้ หรืออุปกรณ์ลอยน้ำอื่นๆ เช่นเบาะที่นั่ง แต่..เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมเขาถึงไม่ให้เรากระตุกเสื้อชูชีพให้พองลมขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบิน นั่นก็เพราะว่า ถ้าหากเครื่องลงน้ำแล้วท่านใส่เสื้อชูชีพที่พองลม แทนที่ท่านจะได้ลอยออกไปจากเครื่องบิน จะกลายเป็นว่าลอยติดอยู่ในซากเครื่องบินแทน เพราะฉะนั้น จะเป็นการดีกว่าที่จะกระตุกเสื้อชูชีพให้พองลมนอกตัวเครื่อง หรือว่า ขณะที่กำลังเดินออกจากตัวเครื่องครับ



แล้วถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจริงๆ เราจะทำยังไงและจะหนีไปทางไหนล่ะ? จะเป็นการดีมากถ้าหากเราทุกคนรู้ว่าประตูทางออกฉุกเฉินอยู่ที่ไหน ซึ่งโดยปกติแล้วประตูทางออกฉุกเฉินจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ประตู 10 ประตู หรือ 12 ประตู แล้วแต่ประเภทของเครื่องบิน และประตูทางออกฉุกเฉินนี้ จะมีอุปกรณ์ความปลอดภัย ที่เรียกว่า Slide Raft ติดตั้งไว้สำหรับการอพยพออกจากเครื่องบิน สามารถเป็นได้ทั้งสไลด์ และเป็นได้ทั้งแพชูชีพ แต่บางประตูจะเป็นแค่สไลด์อย่างเดียว ไม่ได้เป็นแพชูชีพด้วย ทางที่ดี เราควรจะศึกษาข้อมูลนี้จากแผ่นพับในกระเป๋าที่นั่งด้านหน้าของเรา หรือว่าสอบถามได้จากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินครับ





ส่วนท่านั่งที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินนั้น มีชื่อเรียกว่า Brace หรือ Crash protection เป็นพิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดอันตรายกับตัวเราน้อยที่สุดในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะป้องกันคอและศีรษะของเราจากแรงกระแทกได้มากกว่าท่านั่งอื่นๆ ซึ่งท่านั่งก็มีอยู่สองแบบ ขึ้นอยู่กับที่นั่งของผู้โดยสารครับ ถ้าหากเรามีที่นั่งที่กว้าง หรือนั่งแถวหน้าสุด ก็สามารถพับตัว เพื่อป้องกันแรงกระแทกได้ เหมือนภาพซ้ายมือข้างล่าง ส่วนสำหรับที่นั่งที่แคบลงมาหน่อย ก็สามารถใช้แขน หรือประสานมือรองศีรษะไว้แล้วเอนตัวไปข้างหน้าเหมือนภาพขวามือ (สังเกตมั้ยว่านายแบบทั้งสองของเรารัดเข็มขัด Low and tight) แต่ถ้าหากว่ามีเด็กเล็กเดินทางมาด้วย ก็ให้อุ้มไว้ในระหว่างขาทั้งสองข้าง ไม่ใช้บนหน้าตักนะครับ แล้วใช้มือหนึ่งรองศีรษะเด็กไว้ และอีกมือหนึงรองศีรษะของเรา





เป็นที่ทราบกันดีว่าสมัยนี้ใครไม่เป็นโรคติดต่อเนี่ย เชยมาก โรคติดต่อที่ว่านี้ก็คือโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์การสื่อสารต่างๆ ที่เราใช้กันทุกวันนี่แหละครับ ทราบมั้ยว่าทำไมสายการบินทั่วโลกถึงไม่อนุญาตให้พวกเราใช้อุปกรณ์เหล่านี้ นั่นก็เพราะว่าคลื่นสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือ จะรบกวนการติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินและหอบังคับการบินน่ะสิครับ ไม่เพียงแต่โทรศัพท์มือถืออย่างเดียวนะครับ รวมถึงของเล่นบังคับวิทยุ เครื่องส่ง หรือรับสัญญาณวิทยุ และอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ เช่นบลูทูธ พริ้นเตอร์ไร้สาย อุปกรณ์เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสิ้น อดใจไว้สักนิดระหว่างเดินทาง แล้วค่อยใช้เมื่อเครื่องบินจอดเทียบท่าอาคารผู้โดยสารแล้วจะดีกว่าครับ




ถึงแม้ว่าอุบัติเหตุของการเดินทางโดยเครื่องบินนั้นมักจะร้ายแรง แต่การเดินทางด้วยวิธีนี้ ยังนับเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยวิธีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรถยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวพวกเราที่สุด แต่เรากลับมองข้ามไป ขนาดการเดินทางง่ายๆ โดยใช้ลาและม้า ยังคร่าชีวิตของคนมากกว่าอุบัติเหตุทางอากาศเสียอีก (อันนี้ไม่ได้โม้นะ เมื่อคืนดูทีวีแล้วเจอจริงๆ) และพนักงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอากาศยานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยเป็นอย่างดี และเครื่องบินมีการตรวจสภาพความพร้อมก่อนทำการบินอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงมั่นใจได้ถึงสวัสดิภาพของพวกเรา และอย่าลืมที่จะทำตัวเป็นผู้โดยสารที่ดีทุกๆ ครั้งที่โดยสารไปกับเครื่องบินนะครับ

2 comments:

lukbasketball said...

ขอสารภาพบาปค่ะ

ตอนเด็กๆ เราเคยดึงเสื้อชูชีพออกมากสวมเล่น พี่แอร์เดินมาเห็นปุ๊บ ทำหน้าอธิบายลำบากค่ะ

ด้วยความสงใสใคร่รู้เลยถามพี่แอร์ไปว่า หนูอยากให้ไฟมันเปิดได้ ทำยังไงคะ จำไม่ได้แล้วว่าพี่เตอบว่าอย่างไรแต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจจะเอาคำตอบนักค่ะ เพราะมัวแต่ง่วนกับการหาทาง จนพี่เค้าบอกว่าถอดก่อนดีไม๊คะ หนูยังไม่ได้ตกน้ำ ประมานนี้ค่ะ

แล้วคุนพ่อกลับมาจากห้องนำเห็นเข้า อึ้ง DAKSค่ะต้องมีการขอขมากันเล็กน้อย

จบ ซน session ของเราด้วยการได้ ชูชีพกลับมาเป็นที่ระทึก ขอบคุณ บริการ อ๊วกเหลืองจากการบินไทยเป็นอย่างสูงค่ะ

Susama said...

พูดได้คำเดียวว่า..."แย่"